เกษตรจังหวัดกระบี่ส่งเสริมเกษตรกรเพาะเห็ดและเห็ดร่างแห สร้างรายได้กว่า 10000 บาท / เดือน

 เกษตรจังหวัดกระบี่ส่งเสริมเกษตรกรเพาะเห็ดและเห็ดร่างแห สร้างรายได้กว่า 10000 บาท / เดือน


  นางวิลาวัลย์ เทพเสถียร เกษตรกรผู้ผลิตก้อนเห็ดเยื่อไผ่ อยู่บ้านเลขที่ 262 ม.5 ต.ลำทับ อ.ลำทับ จ.กระบี่ กล่าวถึงความเป็นมาในการประกอบอาชีพเสริมเพาะเห็ดและเห็ดร่างแหว่า ตนเองมีอาชีพหลักก็คือการทำสวนปาล์มน้ำมัน แต่การทำสวนปาล์มน้ำมันนั้นจะมีเวลาว่างอยู่บ้าง เลยหาอาชีพเสริมมาเข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดและเห็ดร่างแหของอำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การเพาะเห็ดร่างแหทำได้ไม่ยากโดยการใช้ตะกร้าผลไม้โดยใช้ใบปาล์มหรือใบไผ่รองก้นตะกร้าหลังจากนั้นนำขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบดโรยเป็นชั้นที่ 2 ชั้น


ถัดไปโรยด้วยมูลวัวแห้ง วางก้อนเชื้อ โรยน้ำตาลทราย และกลบด้วยขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบด การเพาะเห็ดร่างแหในตะกร้า วัสดุเพาะ ประกอบด้วย ใบปาล์มหรือใบไผ่ ขี้เลื่อย ทางปาล์มบด มูลวัว น้ำตาลทรายวิธีการเพาะเห็ดร่างแห จัดแบ่งการเพาะออกเป็น 5 ชั้น ชั้นที่ 1 นำใบปาล์มหรือใบไผ่รองก้นตะกร้าชั้นที่ 2 นำขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบดโรยให้มีความหนา 5-10 เซนติเมตรชั้นที่ 3 นำมูลวัวแห้งโรยให้มีความหนา 5-10 เซนติเมตรชั้นที่ 4 นำก้อนเชื้อเห็ดร่างแหมาวาง แล้วโรยด้วยน้ำตาลทรายชั้นที่ 5 กลบหน้าด้วยขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบด รดน้ำพอชุ่ม ใช้ระยะเวลา 1 เดือนในการเพาะลงตะกร้า ก่อนย้ายไปลงแปลงดินเพื่อให้เห็ดเจริญเติบโตตามธรรมชาติ

หลังจากลงแปลงจะใช้ระยะเวลา 45 วัน เห็ดจะเจริญเติบโตสามารถเก็บเกี่ยวได้ รวมระยะเวลาการเพาะ 1 เดือน 45 วัน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ ผลผลิตที่ได้ก้อนเชื้อ 12 ก้อน ให้ผลผลิตประมาณ 8 กิโลกรัม ราคาขายเห็ดสดกิโลกรัมละ 600 บาท


  นางชนม์นิภา สามนารี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดและเห็ดร่างแห กล่าวว่าเห็ดร่างแหสรรพคุณมีมากมายที่สำคัญมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางชีวภาพที่แตกต่างกันไปโดยในส่วนปลอกหุ้มดอกและหมวกดอกจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ อยู่ในปริมาณสูง สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นได้หลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้อย่างหลากหลาย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น ส่วนเมือกหุ้มดอกเห็ด มีลักษณะเป็นเจลเข้มข้นที่อุดมไปด้วยกรดไฮยาลูรอนิก และอัลลันโทอิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว เพิ่มความชุ่มชื้น ฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ


  น.ส.กาญจนา กาฬกาญจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่าในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่เข้ามาส่งเสริมการเพาะเห็ดร่างแห ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ปี 2565 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด โครงการพัฒนาและขยายผลการพัฒนาเกษตรฐานรากด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ตามรูปแบบกระบี่โมเดล กิจกรรมส่งเสริมการเพาะเห็ดร่างแห และได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มีความสนใจในการเพาะเห็ดร่างแห เพื่อสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนมาตลอด มีการศึกษาดูงานสถานที่เพาะเห็ดร่างแห และฝึกเพาะด้วยตนเอง รวมถึงสอนวิธีการผลิตก้อนเชื้อ การเขี่ยเชื้อ ปรับปรุงพัฒนาการเพาะให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของภาคใต้ มีการติดตามให้คำแนะนำ จนทำให้การเพาะเห็ดร่างแหประสบความสำเร็จและสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรได้จริง สายพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงคือ สายพันธุ์จากประเทศจีน เนื่องจากมีดอกที่มีขนาดใหญ่ มีเมือกปริมาณมาก สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าดอกเห็ด ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของเห็ดร่างแหสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้ส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดร่างแห พบว่าในส่วนประกอบของเห็ดร่างแห มีกรดอะมิโนที่ร่างกายจำเป็นมากกว่า 17 ชนิด จากทั้งหมด 20 ชนิดและยังมีโปรตีนและแร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็น ร้อยละ 30 ได้แก่ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม สังกะสี และเหล็ก.


แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น