ชาวบ้าน3อำเภอ กว่า 1,000 คน สุดทน บุกศาลากลางนราฯ ยื่นหนังสือต่อ “พ่อเมือง” สางปมเงินเยียวยาน้ำท่วมไม่เป็นธรรม
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 25 พ.ค.67 ที่ศาลากลางจังหวัดนราธิวาสหลังใหม่ ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส ได้มีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.รือเสาะ, อ.ระแงะ และ อ.เมืองนราธิวาส กว่า 1,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างหนักในรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.- 28 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ่ายเงินเยียวยา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย เนื่องจากรายชื่อตกหล่นจากการสำรวจ และกลุ่มที่ได้รับเงินเยียวยาแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยเหมือนกัน โดยบางรายได้เงินเยียวยาสูงสุด 77,000 บาท ส่วนผู้ที่ได้เงินเยียวยาน้อยสุดเพียง 100 บาท ซึ่งชาวบ้านคาใจกับกฏเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ โดยนางวิชชุเวช เอียดเต็ม แกนนำและผู้ประสบอุทกภัยสลับสับเปลี่ยนกันระบายความอัดอั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ต่อมาเวลา 14.00 น.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาหลังทราบว่ากลุ่มชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเยียวยาจากอุทกภัย พร้อมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น จาก น.ส.นีซาวาตี ปะดอ ชาวบ้านในพื้นที่บ้านฮูยงตันหยง ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส ที่ได้สะท้อนความไม่เป็นธรรมจากการเยียวยาจนร้องไห้ออกมาต่อหน้านายกมลศักดิ์ที่รู้สึกหดหู่กับการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะรับหนังสือร้องทุกข์จากนางวิชชุเวช เอียดเต็ม แกนนำกลุ่มชาวบ้าน หลังจากนั้นได้ประชุมร่วมกับ ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส, นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รอง เลขาธิการ ศอ.บต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยอนุญาตให้ตัวแทนชาวบ้านเพียง 15 คน เข้าร่วมประชุมกว่า 2 ชั่วโมง
โดยที่ประชุมมีการพิจารณาใน 2 ประเด็นคือ ความล่าช้าในการสร้างบ้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโกดังเก็บดอกไม้ไฟระเบิด เมื่อวันที่ 29 ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ใกล้โกดังที่เสียหายทั้งหลังจำนวน 85 หลัง ล่าสุดหลังจากที่ได้ปลดล็อคการว่าจ้างภายใน 1 เดือนนี้ ชาวบ้านสามารถหาผู้รับเหมามาสร้างบ้านด้วยตนเอง โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้ดูแลวงเงินและจ่ายเป็นงวดๆ เพื่อป้องกันชาวบ้านนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นหมด
ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเยียวยา ผวจ.นราธิวาส ชี้แจงว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งจะรื้อฟื้นการเยียวยาใหม่ เพราะตนเองไม่ทราบเรื่องมาก่อน เพิ่งทราบจากข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ ต้องขอเวลาตรวจสอบและขอให้มั่นใจว่าทุกคนจะได้รับความเป็นธรรมแน่นอน
ขณะที่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ กล่าวว่า การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ผ่านมา ตนเองได้รับฟังปัญหามาพอสมควร วันนี้มาฟังคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ตกสำรวจกับชาวบ้านที่ได้รับแต่ไม่เป็นธรรม ตนเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านที่เดือดร้อน มีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่ปัญหาน่าจะเริ่มต้นจากการสำรวจและรวบรวมเอกสารต่างๆ ซึ่งกระบวนการต่างๆอยู่ที่อำเภอ ก่อนส่งต่อมาที่จังหวัด เพื่อพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาผ่าน อบต.แต่ละพื้นที่
0 ความคิดเห็น